เปรียบเทียบ อะไหล่แท้ อะไหล่เทียบ อะไหล่เทียม
เปรียบเทียบ อะไหล่แท้ อะไหล่เทียบ อะไหล่เทียม ก่อนที่เราจะนำรถเข้ารับการบำรุงรักษา เราควรทำความเข้าใจอะไหล่ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ อะไหล่แท้ อะไหล่เทียบ อะไหล่เทียม ว่าคืออะไร มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร และจะตัดสินใจเลือกใช้หรือไม่ใช้ อย่างไรดี ทั้งนี้เพื่อให้รถยนต์อันเป็นที่รักของคุณสามารถนำมาใช้งานได้ดีดังเดิม
อะไหล่แท้
อะไหล่แท้ หมายถึง อะไหล่ที่จัดจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อรถยนต์ของค่ายนั้น ๆ เป็น อะไหล่ที่ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานจากโรงงานผู้ผลิต หรือ “QC” การผลิตและการใช้วัสดุที่นำมาผลิตนั้น จะเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในการประกอบรถยนต์จากโรงงานผู้ผลิต นอกจากนี้ “อะไหล่แท้” ยังสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น
- อะไหล่แท้ห้าง เป็นอะไหล่แท้ยี่ห้อเดียวกับรถยนต์
- อะไหล่แท้ญี่ปุ่นคือ อะไหล่ที่นำเข้าจาก ประเทศญี่ปุ่น และใช้ยี่ห้อเดียวกับยี่ห้อรถยนต์นั้น ๆ
สาเหตุที่อะไหล่แท้มีราคาสูง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตต้องว่าจ้างโรงงานผู้ผลิต ภายนอกให้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่มาส่งมอบให้ตนเองอีกทอดหนึ่ง เมื่อผ่านกระบวนการต่าง ๆ แล้วบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะเพิ่มมูลค่าสินค้าขึ้น ทั้งนี้เพื่อกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งในแง่การขาย การสร้างรายไต้ การทำแบรนดิ้ง หรือการสร้างความนำเชื่อถือต่อตราสินค้าทั้งในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า
นอกจากนี้ “อะไหล่แท้” ส่วนใหญ่จะมีการจำหน่ายแบบยกแพ็ค เช่น ระบบช่วงล่างของปีกนก จะประกอบด้วย ลูกหมาก บูช ฯลฯ ชิ้นส่วนที่ประกอบสำเร็จ ซึ่งไม่สามารถซื้อแยกชิ้นได้ หรือเพลาขับประกอบไปด้วยตุ๊กตารับกลางหรือยางห่อหุ้ม โดยจำหน่ายยกพวงซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “อะไหล่แท้” มีราคาแพง
อะไหล่เทียบ
อะไหล่เทียบ คือ ส่วนใหญ่การผลิตรถยนต์นั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ดำเนินกิจการในบ้านเรา จะสั่งทำอะไหล่จากภายนอกนำเข้ามาประกอบในโรงงานผลิต หรือเรียกอีกอย่างว่า “ซัพพลายเออร์” โดยอะไหล่ที่ผ่านการตรวจมาตรฐานหรือ “QC” ของบริษัทผู้ผลิตจะนำชิ้นส่วนอะไหล่เหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนประกอบของรถยนต์ และนำไปขายในนามของอะไหล่แท้ห้าง ซึ่งอะไหล่เทียบดังกล่าวนี้มักจะมีราคาใกล้เคียงกับอะไหล่แท้ หรือถูกกว่าเล็กน้อย และสามารถแยกขายเป็นชิ้นได้
ดังนั้น ซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่จึงผลิตอะไหล่ทดแทนหรืออะไหล่ทางเลือกในราคาที่ถูกกว่า โดยจำหน่ายในชื่อของบริษัทตนเอง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงบริษัทผลิต อะไหล่ที่ไม่ได้ป้อนให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง แต่ผ่านมาตรฐาน OEM หรือได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ก็ถือว่าเป็น “อะไหล่เทียบ” ไต้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังรวมถึงบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ ที่เคยผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ป้อนให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ด้วย แต่ถูกบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยกเลิกสัญญา เนื่องจากหยุดไลน์ผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าว แต่รถยนต์รุ่นนั้นได้รับความนิยมหรือมีจำนวนประชากรรถอยู่บนท้องถนนในปริมาณสูง
จึงทำการผลิตด้วยเครื่องจักรตัว เดียวกัน แต่อาจปรับลดคุณภาพของวัสดุลงมา เพื่อประหยัดต้นทุนสินค้า แล้วนำมาส่งขายตามร้านจำหน่ายอะไหล่ทั่วไป ซึ่งชิ้นส่วนอะไหล่เหล่านี้ก็ถือเป็น “อะไหล่เทียบ” ได้เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน “อะไหล่เทียบ” ยังมีการแบ่งเกรดตามการผลิต และการเลือกใช้วัสดุที่นำมาผลิตอีกด้วย ซึ่งชิ้นส่วนอะไหล่เทียบบางชนิดอาจมีคุณภาพ หรือคุณลักษณะเทียบหรือสูงกว่าอะไหล่แท้ เช่น ผ้าเบรก บางชนิดอาจมีคุณสมบัติที่ด้อยกว่าอะไหล่แท้
เนื่องจากปัจจัยและเหตุผลในการผลิต สำหรับราคาจะแตกต่างกันไปตามคุณภาพเช่นกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว “อะไหล่เทียบ” จะมีราคาถูกกว่าอะไหล่แท้ราว 50%
อะไหล่เทียม
อะไหล่เทียม หรือบางครั้งอาจเรียกว่า “อะไหล่ปลอม” หมายถึง อะไหล่ที่ผลิตเลียนแบบอะไหล่แท้ หรืออะไหล่เทียบ โดยส่วนใหญ่จะผลิตโดยใช้ยี่ห้อรถยนต์ หรือบริษัทผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีชื่อเสียง คุณสมบัติและลักษณะต่าง ๆ ของ “อะไหล่ปลอม” นั้น จะมีความใกล้เคียงหรือเหมือนกันทุกประการกับ “อะไหล่แท้” เมื่อมองด้วยตาเปล่า แต่เมื่อนำไปใช้งานจะเห็นถึงความแตกต่างของคุณภาพที่ลดลงอย่างชัดเจน
“อะไหล่ปลอม” ส่วนใหญ่ผลิตภายในประเทศ ตามอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนอะไหล่ปลอมที่นำเข้าจากประเทศไต้หวัน ซึ่งศัพท์ในวงการช่างมักเรียกชิ้นส่วนอะไหล่เหล่านี้ว่า “อะไหล่ไต้หวัน” ผู้ผลิตอะไหล่ปลอมอาจจะผลิต ทั้งอะไหล่ปลอมและอะไหล่ยี่ห้อของตนเองออกมาจำหน่ายในตลาด ซึ่งสร้างความเสียหายให้ผู้ใช้รถได้ ส่วนราคาอะไหล่ปลอมแน่นอนว่าถูกกว่าอะไหล่เทียบประมาณ 20% และถูกกว่าอะไหล่แท้ประมาณ 70%